ตาข่ายอวนโปลีปลูกผัก

การปลูกและทำแปลงถั่วฝักยาว

การปลูกถั่วฝักยาว เป็นอีกหนึ่งในกลุ่ม พืชผักสวนครัวรั้วกินได้ ที่น่าปลูกชนิดหนึ่ง เพราะการปลูกแบบธรรมชาตินั้น จะให้ผลผลิตมีคุณภาพดี เทคนิคการปลูกในแบบหลายๆ อย่าง โดยเกษตรกรในหลายชุมชน เช่น ชุมชนบ้านสี่แยกทุ่งแย้ หมู่ 5 ตำบลไชยมนตรี อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งมีความสนใจด้านการเกษตรเป็นอย่างมาก จึงใช้พื้นที่ของตนเองปลูกผักสวนครัว ซึ่งมีการสลับปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เช่น แตงกวา มัน พริก ผักชี ฯลฯ ปัจจุบันได้ปลูกถั่วฝักยาวอยู่ในช่วงให้ผลผลิต ซึ่งแปลงถั่วฝักยาวแปลงนี้ได้รับคำชมเชยจาก เพื่อน ๆ ว่าเป็นแปลงที่สวยมาก เคล็ดลับในการปลูกถั่วฝักยาวให้มีคุณภาพดี จากปากคำของคุณอาภรณ์ ช่วยนุกูล เกษตรกรในชุมชนนั่นเอง คือ

 

เคล็ดลับการปลูกถั่วฝักยาวให้มีคุณภาพดี
1.ควรปลูกแบบวิธีทำค้าง โดยใช้ไม้ไผ่ปักเป็นแนวและใช้ตาข่ายขึง เพื่อให้ต้นถั่วไต่ จะทำให้ฝักถั่วยาวขึ้น ราคาดีขึ้น
2.ใส่ปุ๋ยหมักชีวภาพทุกๆ 10 – 15 วันต่อครั้ง หลุมละ 1 กำมือทำให้ได้ผลผลิตมากและนานกว่าปกติถึง 2 เดือน
3.รดน้ำผสมน้ำสกัดชีวภาพทุกครั้งเมื่อใส่ปุ๋ยชีวภาพเพิ่ม
4.ฉีดพ่นน้ำหมักชีวภาพ ป้องกันแมลง เพลี้ยอ่อน โดยเพิ่มกากน้ำตาลหรือผงซักฟอก ให้เป็นสารจับใบ
5.ตัดใบออกทิ้งบ้าง เพื่อให้ลำต้นนำสารอาหารไปเลี้ยงฝักถั่วมากขึ้น ทำให้ได้ฝักถั่วเพิ่มขึ้น
6.ควรปลูกถั่วฝักยาวในพื้นที่ ที่แสงแดดส่องถึง

ถั่วฝักยาว เป็นพืชตระกูลถั่ว ซึ่งมีลำต้นเป็นเถาเลื้อยมีมือจับ แปลงปลูกถั่วฝักยาว โดยการทำค้าง จะให้ผลผลิตสูง ถั่วชนิดนี้เป็นผักที่ลูกง่ายโตเร็ว ปลูกได้ตลอดปี ในดินแทบทุกชนิด มีความนิยมบริโภคกันมากในเมืองไทย สามารถประกอบอาหารได้หลายชนิด นอกจากจะเป็นผักที่มีคุณค่าทางอาหารแล้ว ยังสามารถช่วยปรับปรุงดินให้ดีขึ้นอีกด้วยเพราะรากของถั่วฝักยาวเองสามารถตรึงไนโตรเจนจากอากาศไว้ในดินได้ดี

สภาพดินฟ้าอากาศในการทำแปลงปลูกถั่ว
โดยทั่วไปถั่วฝักยาวสามารถปลูกได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย สามารถเติบโตได้ในดินแทบทุึกชนิด แต่ปลูกได้ดีในดินร่วนปนทราย ระบายน้ำได้ดี มีความเป็นกรด-ด่าง ของดินอยู่ระหว่าง 5.5-6.0 ต้องการแสงแดดเต็มที่ตลอดวัน ชอบอากาศค่อนข้างร้อน ถ้าอากาศหนาวเกินไปจะทำให้ชงักการเจริญเติบโตผลผลิตต่ำ ฝักไม่สวย ถั่วฝักยาวจะให้ผลผลิตดีในช่วงฤดูฝน อุณหภูมิที่เหมาะสม สำหรับการเจริญเติืบโตอยู่ในช่วง 15-30 องศาเซลเซียส

การเตรียมดินสำหรับปลูก
ยกร่องแปลงกว้าง 1-1.20 เมตร ความยาวแล้วแต่สภาพแปลง ตากดินไว้ 7-10 วัน เพื่อทำลายไข่แมลง และศัตรูบางชนิดแล้วไถคราด ใส่ปุ๋ยคอกปุ๋ยหมัก เพื่อปรับสภาพโครงสร้างดิน และการบำรุงดิน

 

แปลงถั่วฝักยาว
ทำหลุมปลูก หลังปรับร่องแปลงให้ขุดหลุมปลูกระยะระหว่างต้น 50 เซนติเมตร ระยะระหว่าง 80 เซนติเมตร รองกันหลุมด้วยปุ๋ยเคมี-อินทรีย์ตราบัวทิพย์ สูตร2 ในอัตรา 1 ช้อนชาต่อหลุม คลุกเคล้าให้เข้ากับดินแล้วหยอดเมล็ดลงไปหลุมละ 2-3 เมล็ด กลบหลุมด้วยปุ๋ยคอกหนา เพียงเล็กน้อย แล้วรดน้ำทุกวัน วันละครั้ง

การทำค้าง เนื่องจากถั่วฝักยาวเป็นพืชที่ต้องอาศัยค้างเพื่อยึดเกาะพยุงลำต้น ดังนั้นควรทำไม้ค้างให้เพื่อจะได้ผลผลิตที่ดี และมีคุณภาพสูง โดยใช้ไม้ไผ่ยาว 2-2.5 เมตร การปักอาจปักแบบกระโจมเข้าหากัน แล้วรวบปลายไม้เข้าหากันหรืออาจจะปักตรงๆ แต่ละต้นก็ได้ หลังปักค้างเสร็จจับเถาถั่วพันรอบไม้ค้าง ต้องคอยทำทุกๆ 2-3 วัน

การปฏิบัติดูแลรักษา การให้น้ำ ถั่วฝักยาวเป็นพืชที่ต้องการน้ำอย่างสม่ำเสมอและเพียงพอ ระยะเวลาการเจริญเติบโตของถั่วฝักยาว ควรเหมาะกับการให้น้ำในระยะอาทิตย์แรกหลังหยอดเมล็ดควรให้น้ำทุกวัน อย่าให้ดินแห้งแต่อย่าให้มากเกินไปเพราะจะทำให้เมล็ดอาจเน่าได้ ส่วนระยะการเจริญเติบโต และติดดอกออกผลอย่าให้ขาดน้ำเป็นอันขาด ควรให้น้ำทุกวันๆ 2 ครั้งในช่วงเช้าเย็น เพราะจะทำให้ดอกร่วง และไม่ติดฝัก หรือฝักอาจไม่สมบูรณ์
 
การใส่ปุ๋ยกับถั่วฝักยาว
 – ใส่รองพื้นขณะเตรียมแปลงปลูก ใช้ปุ๋ยเคมี-อินทรีย์ตราบัวทิพย์ สูตร2 ในอัตรา 1ช้อน ชาต่อหลุม
– ใส่เมื่อถั่วฝักยาวอายุได้ 15-20 วัน ให้ปุ๋ยเคมี-อินทรีย์ตราบัวทิพย์ สูตร2 ในอัตรา 1 ช้อน ชาต่อหลุม
– ใส่เมื่อเริ่มเก็บผลผลิตถั่วฝักยาวครั้งแรก อายุประมาณ 45-50 วัน ให้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักอย่างสม่ำเสมอ

การพรวนดินกำจัดวัชพืชทำทุกครั้งเมื่อมีการใส่ปุ๋ย

 

การเก็บเกี่ยว
หลังหยอดเมล็ดแล้วประมาณ 50-60 วัน สามารถเก็บเกี่ยวได้ ให้เลือกเก็บเฉพาะฝักที่ขนาดพอดี ไม่อ่อนเกินไป ควรเลือกเก็บในเวลาเข้าหรือเย็นๆ หลังเก็บเกี่ยวเสร็จควรรีบเก็บเข้าร่มทันทีเพื่อมิให้ถั่วฝักยาวเหี่ยว และฝ่อเร็ว การเก็บให้ทยอยเก็บ 2-3 วัน/ครั้ง

อุปสรรคสำคัญในการปลูกถั่วฝักยาว คือ โรค ซึ่งจะทำให้คุณภาพและผลผลิตลดลงจนไม่สามารถส่งขายได้ โดยโรคต่างๆ มีรายละเอียดดังนี้

โรคราเขม่า เกิดจากเชื้อรา สูโดเซอร์คอสปอรา อาการคือ มักปรากฏอาการที่ใบแก่ตอนโคนต้นใบด้านบนจะเป็นปื้นสีขาวซีด เป็นดวงๆ พลิกดูใต้ใบจะพบคล้ายผงเขม่าสีเทาดำเมื่อระบาดรุนแรงจะพบผงเขม่ามากขึ้น แผลใหญ่ขึ้น ใบจะแห้งและหลุดร่วงไป แล้วลุกลามขึ้นด้านบนทำให้ใบที่อยู่กลางๆ ต้นเป็นโรคด้วย ทำให้ต้นถั่วโทรมเร็วและผลผลิตลดลง

การป้องกันกำจัด
1. ลดความชื้นในแปลงปลุกโดยเพิ่มระยะปลูกให้ห่างขึ้นหรือลดจำนวนต้นต่อหลุม
2. เมื่อพบเริ่มแรกควรรีบเก็บใบที่เป็นโรคเผาทำลาย หมั่นตรวจดูบริเวณส่วนล่างของต้นและใบในทรงพุ่ม เพื่อจะได้ป้องกันได้ทันที
3. ถ้าพบมากขึ้น แนะนำให้ใช้สารเคมีประเภทแมนโคเซปฉีดพ่นสลับกับเบนโนมิลหรือคาร์เบน ดาซิม
4. หลังเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ควรทำความสะอาดแปลงปลูกทันที

โรคราแป้ง เกิดจากเชื้อรา ออยเดียม อาการคือ จะพบผงสีขาว ทั้งด้านใต้ใบและบนใบ ถ้าเป็นมากผงสีขาวจะหนาแน่นมองเห็นชัดเจน เมื่อเอามือลูบจะหลุดออกเป็นแผ่นจะพบมากบริเวณโคนต้น แล้วลุกลามขึ้นด้านบน และผงสีขาวจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแดง และระบาดโดยปลิวไปตามลม

การป้องกันกำจัด
1. ไม่ควรเก็บเมล็ดพันธุ์จากต้นเป็นโรคไปทำพันธุ์
2. ควรรดน้ำต้นถั่วให้เปียกทั่วใบอย่างสม่ำเสมอ เพราะส่วนขยายพันธุ์ของเชื้อราแป้งนี้จะไม่งอก ถ้ามีละอองน้ำมากๆ
3. แปลงที่มีประวัติการระบาดของโรคนี้ควรพ่นสารป้องกันจำพวกกำมะถันผงละลายน้ำ หรือคาราเทน ควรพ่นในตอนเย็นที่หมดแดดแล้ว (สารดูดซึมอื่นๆ มีอีกหลายชนิดแต่ราคาแพงไม่คุ้มกับการลงทุน แต่ในฤดูที่ถั่วยาวมีราคาสูง อาจใช้สารประเภทดูดซึมฉีดพ่นก็ได้)
4. แปลงที่เป็นโรคมากควรรื้อและเผาทำลายทันที ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ให้เป็นแหล่งแพร่กระจายของเชื้อโรคต่อไป

โรคราสนิม เกิดจากเชื้อรา ยูโรมายเซส อาการคือ จะพบที่ใบแก่เป็นส่วนมาก โดยมีตุ่มนูนขนาดเล็กๆ สีเหลืองซีด ตรงกลางตุ่มมีแผลแตก ซึ่งจะมีผงสีสนิมเหล็กเกาะอยู่เป็นกลุ่ม เมื่อโรคระบาดมากขึ้น จำนวนจุดต่อใบจะมากขึ้นลุกลามจากส่วนล่างๆ สู่ส่วนบนของต้น และใบที่เป็นมากจะเหลืองและร่วงหล่นไป มักจะพบอยู่เสมอในทุกๆ แหล่งที่มีการปลูกถั่วฝักยาว

การป้องกันกำจัด
1. หมั่นตรวจดูแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะใบในทรงพุ่มและใบแก่ตอนล่างของต้น
2. ถ้าพบโรคนี้ ควรพ่นด้วยสารจำพวกกำมะถันผง ละลายน้ำ หรือสารประเภท แมนโคเซป
3. แปลงปลูกที่ทรุดโทรมแล้ว ควรรีบรื้อออกและเผาทำลายเพื่อตัดต้นตอของโรคที่จะระบาดในการปลูก ครั้งต่อไป

โรคใบด่าง เกิดจาก เชื้อวิสา มีแมลงปากดูดเป็นพาหะ อาการคือ จะพบโรคใบด่างได้ทั่วทุกแปลงที่ปลูกถั่วฝักยาว อาการคือใบจะด่าง สีเหลืองสลับเขียวอ่อนและขาวซีด จะเห็นได้ชัดเจนโรคนี้จะแพร่กระจายโดยติดไปกับเมล็ดพันธุ์หรือแมลงปากดูดถ้าเป็นกับต้นถั่วที่ยังเล็ก จะไม่ให้ผลผลิต

การป้องกันกำจัด ยังไม่มีคำแนะนำในเรื่องการใช้สารเคมี แต่มีแนวทางป้องกันโดยเริ่มจากการคัดเลือกเมล็ดพันธุ์จากต้นที่แข็งแรงสมบูรณ์ไว้ทำพันธุ์ กำจัดต้นที่เป็นโรคทิ้งไป และพ่นสารเคมีป้องกันแมลงปากดูดเพื่อยับยั้งการแพร่กระจายของโรคนี้

ขอบคุณที่มา ฝ่ายส่งเสริมการเกษตร สำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เชียงใหม่
ขอบคุณที่มา  http://www.kasetorganic.com/การปลูก-ถั่วฝักยาว.html

 

12 เมษายน 2560